【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ
เราขอแนะนำการเปลี่ยนผันของสี่ฤดูกาลเป็นซีรี่ส์ยาว ผ่านภาพของสัตว์ป่าที่ใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้นตามป่าลึก พื้นที่ชุ่มน้ำ และทะเล ราวกับอยู่ในอ้อมกอดของ “คามุอิ” ซึ่งมีความหมายว่าเทพเจ้าในภาษาไอนุ ตอนที่ 1 นำเสนอกวางฮอกไกโดบนคาบสมุทรโนซึเกะ
(ชิเงรุ ทาดาโนบุ แผนกข่าวคุชิโระ เป็นผู้รับผิดชอบการเขียนบทความและจัดหาภาพถ่าย)
Special feature
【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ (47) ชิปมังก์อมถั่วฤดูใบไม้ร่วงไว้เต็มแก้ม

ระหว่างเดินตามทางลาดชันที่เต็มไปด้วยก้อนหินจนขึ้นภูเขาโทคาจิดาเกะได้ครึ่งทางเพื่อตามหากระต่ายไพกา ผมได้พบกับชิปมังก์ 2 ตัว
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตโดยพึ่งพาตัวเอง นอกจากฤดูผสมพันธุ์หรือช่วงเลี้ยงลูก พวกมันจะเคลื่อนไหวทำอะไรตัวเดียวมากกว่า ไม่รู้ว่าชิปมังก์ 2 ตัวนี้เป็นพี่น้องที่เกิดปีนี้เหมือนกันและสนิทสนมกันหรืออย่างไร พวกมันถึงได้มองหน้าสบตากันในระยะประชิด
เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง พวกชิปมังก์จะวิ่งวุ่นกับการเตรียมตุนอาหาร เช่น ถั่วประเภทต่างๆ เพื่อการจำศีลในฤดูหนาวอันยาวนาน การจำศีลของชิปมังก์ต่างจากการจำศีลโดยสมบูรณ์ของพวกสัตว์เลื้อยคลาน บางทีชิปมังก์ก็ลืมตาตื่นในรังและกินอาหาร จึงต้องตุนเสบียงไว้ไม่ให้ขาด เวลาเจอถั่ว พวกมันจะอมเข้าปากจนเต็มกระพุ้งแก้มแล้วไปที่อื่นต่อ ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คลังเสบียงที่สะสมพวกลูกโอ๊กกับวอลนัตไว้มีอยู่หลายแห่ง ของที่กินเหลือจะแตกต้นอ่อนในฤดูใบไม้ผลิต่อไป วิถีชีวิตของชิปมังก์มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศของป่าด้วย
(ภาพถ่ายและเนื้อหาโดย ชิเงรุ ทาดาโนบุ)