【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ
เราขอแนะนำการเปลี่ยนผันของสี่ฤดูกาลเป็นซีรี่ส์ยาว ผ่านภาพของสัตว์ป่าที่ใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้นตามป่าลึก พื้นที่ชุ่มน้ำ และทะเล ราวกับอยู่ในอ้อมกอดของ “คามุอิ” ซึ่งมีความหมายว่าเทพเจ้าในภาษาไอนุ ตอนที่ 1 นำเสนอกวางฮอกไกโดบนคาบสมุทรโนซึเกะ
(ชิเงรุ ทาดาโนบุ แผนกข่าวคุชิโระ เป็นผู้รับผิดชอบการเขียนบทความและจัดหาภาพถ่าย)
Special feature
【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ (48) วาฬหัวทุยดำน้ำอย่างทรงพลังสู่ก้นทะเล 2 พันเมตร

ร่างมหึมาของวาฬหัวทุยยกครีบหางขึ้นสูงแล้วเริ่มดำน้ำ นักท่องเที่ยวบนเรือร้องเฮเมื่อเห็นภาพอันน่าทึ่ง
ผมมองหาวาฬจากบนเรือท่องเที่ยวสำหรับรับชมวาฬที่ออกเดินทางจากท่าเรือราอุสุ ครีบหางของมันถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว การหาวาฬหัวทุยให้พบจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ไกด์บนเรือท่องเที่ยวเล่าว่า จุดสังเกตคือวาฬหัวทุยจะปล่อยลมหายใจเป็นแนวทแยงเล็กน้อย แต่ขนาดใช้กล้องส่องทางไกล ผมก็ยังเห็นเพียงผิวน้ำที่ทอประกายระยิบระยับ
วาฬหัวทุยที่ตัวยาวกว่า 15 เมตรกำลังดำน้ำลึกกว่า 2 พันเมตรเพื่อหาอาหาร ระดับความลึกของน้ำทะเลบริเวณตอนใต้ช่องแคบเนมุโระที่อยู่ระหว่างคาบสมุทรชิเรโทโกะกับเกาะคุนะชิริคือ 20-30 เมตรซึ่งจัดว่าตื้น แต่ทะเลตอนเหนือมีน้ำลึกถึง 2,400 เมตร วาฬหัวทุยดำลงน้ำลึกและกำลังต่อสู้กับปลาหมึกตัวใหญ่ ผมจึงมองไม่เห็นมัน แต่ก็จินตนาการบรรเจิดตาม
ทะเลซึ่งมีระดับสูงต่ำไม่เท่ากันและระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์มักจะดึงดูดวาฬ
(ภาพถ่ายและเนื้อหาโดย ชิเงรุ ทาดาโนบุ)