《ทางเลือกเมื่อย้ายมาอยู่ฮอกไกโด รายงานจากนิเซโกะ》
รายงานข่าวจากตำบลนิเซโกะภายใต้การปกครองของชิริเบชิที่มีผู้คนย้ายถิ่นมาอยู่อาศัยกันมากมาย เพื่อแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับ “ทางเลือก” ของผู้คนที่ตัดสินใจจะย้ายถิ่นฐาน
Special feature
《ทางเลือกเมื่อย้ายมาอยู่ฮอกไกโด รายงานจากนิเซโกะ》 ①คุณคามาตะ ซาโตชิลาออกจากบริษัทโทเรย์ที่โด่งดังมาร่วม “ทีมร่วมแรงร่วมใจ” ในนิเซโกะ

“ตีลูกได้สวย!” ณ สนามเบสบอลที่ยามสนธยาใกล้เข้ามา คุณคามาตะ ซาโตชิ (อายุ 35 ปี) ผู้กลายเป็นสมาชิกของทีมร่วมแรงร่วมใจกระตุ้นความคึกคักให้ท้องถิ่นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ร้องบอกนักเรียนมัธยมต้นที่ฝึกตีลูกอยู่ว่าอย่างนั้นและโยนบอลให้พวกเขาในช่วงปลายเดือนตุลาคม เมื่อก่อนเขาเคยศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮอกไกโดและทุ่มเทให้กับการเล่นสกี เคยคิดจะหางานในฮอกไกโดอยู่เหมือนกัน แต่กลับได้งานที่โทเรย์ บริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น “เพราะผมชอบการผลิตอะไรสักอย่าง ไม่สิ เพราะคนรอบข้างหางานทำที่โตเกียวกันหมดละมั้ง”
จนถึงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขารับผิดชอบด้านฟิล์มพลาสติกที่สำนักงานใหญ่ในโตเกียว คู่ค้ามีแต่กิจการระดับโลก ตั้งแต่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ บริษัทนิสสัน มอเตอร์ ไปจนถึงบริษัทต่างแดน ขณะที่การแข่งขันระดับโลกกำลังดุเดือด เขาใช้เวลาแต่ละวันไปกับการรวบรวมความต้องการของลูกค้าและหารือกับทีมวิศวกรที่โรงงานในจังหวัดอิบารากิเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น ทุ่มเทความพยายามเต็มที่กับงานผลิต “สิ่งของด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย” เป็นเวลา 12 ปี อาศัยอยู่ที่ทำเลทองในใจกลางเมืองและได้รับเงินเดือนที่มั่นคง แต่สุดท้ายก็ทิ้งการใช้ชีวิตในฐานะพนักงานของบริษัทแถวหน้าและเลือกจะย้ายมาอาศัยอยู่ในตำบลนิเซโกะแทน
ใช้เวลามากกว่า 10 ปีกว่าเขาจะได้ตำแหน่งผู้จัดการที่สามารถบริหารงานได้อย่างแท้จริง ตอนที่รู้สึกว่าหนทางช่างยาวไกลและเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน จู่ๆ เขาเริ่มรู้สึกแปลกกับตัวเองที่ขึ้นรถไฟแน่นขนัดไปทำงาน “ผมรักทั้งอาคิตะที่เป็นบ้านเกิดและฮอกไกโด ทั้งที่เป็นอย่างนั้น ทำไมผมถึงมาอยู่โตเกียวล่ะ”
สำนักงานใหญ่ของบริษัทโทเรย์ตั้งอยู่ในตึกระฟ้าสูง 39 ชั้นบนพื้นดินในแขวงนิฮมบาชิมุโระ กรุงโตเกียว เวลาทำงานคือตั้งแต่ 9:00-21:00 เขาเป็นหนุ่มโสด ไปดื่มกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานแล้วค่อยกลับบ้านอยู่บ่อยๆ บางทีก็กลับบ้านหลังเที่ยงคืนด้วย แม้รู้สึกว่างานมี “คุณค่าให้ทำ” ทว่าตั้งแต่อายุล่วงเข้า 30 ปลายก็เริ่มทำงานบริหารเป็นหลัก
สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือความผูกพันที่มีต่อภูเขา ไม่ว่างานจะยุ่งเพียงใด สุดสัปดาห์เขาต้องขับรถไปถึงจังหวัดนางาโนะเพื่อปีนเขาในฤดูร้อนและเล่นสกีในฤดูหนาว “อยากกลับต่างจังหวัด” ความรู้สึกนั้นรุนแรงขึ้น ระหว่างที่กำลังแยกชิ้นส่วน เขาเริ่มสงสัยว่าทำไมตัวเองชื่นชอบการผลิต “สิ่งที่น่าสนใจ” และนึกฉงนว่า “สร้างผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้งที่ตัวเองชอบที่สุดในต่างจังหวัดไม่ได้หรือ”
เขาเกิดไอเดียในการสร้างโมเดลธุรกิจที่ผสมผสาน “การผลิตสิ่งของ” กับ “สกี” เข้าด้วยกัน เริ่มจากถุงมือเล่นสกี วัสดุคือหนังกวางฮอกไกโด เขาตามหาธุรกิจฝีมือดีทั่วประเทศและสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานขึ้น สาเหตุที่เลือก “นิเซโกะ” ซึ่งเป็นย่านสกีรีสอร์ทระดับนานาชาติก็เพราะอยากสร้างแบรนด์อุปกรณ์เล่นสกีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยมุมมองระดับโลก ผู้ผลิตอุปกรณ์เล่นสกีที่หลอมรวมและเผยแพร่คุณค่าของนิเซโกะมีไม่มากนัก เขาจึงเล็งเห็นว่านี่เป็นโอกาส
เขาอาศัยรอยยิ้มเป็นมิตรของตัวเองในการย่นระยะห่างกับผู้คนในเมืองและปรับตัวเข้ากับย่านนี้ได้โดยสมบูรณ์ นำไปสู่การทำ “ความฝันของนิเซโกะ” ให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ การท้าทายจากใจกลางกรุงโตเกียวเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในฤดูหนาวนี้เอง
