【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ
เราขอแนะนำการเปลี่ยนผันของสี่ฤดูกาลเป็นซีรี่ส์ยาว ผ่านภาพของสัตว์ป่าที่ใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้นตามป่าลึก พื้นที่ชุ่มน้ำ และทะเล ราวกับอยู่ในอ้อมกอดของ “คามุอิ” ซึ่งมีความหมายว่าเทพเจ้าในภาษาไอนุ ตอนที่ 1 นำเสนอกวางฮอกไกโดบนคาบสมุทรโนซึเกะ
(ชิเงรุ ทาดาโนบุ แผนกข่าวคุชิโระ เป็นผู้รับผิดชอบการเขียนบทความและจัดหาภาพถ่าย)
Special feature
【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ (34) นกหัวขวานดำ พ่อแม่ทุ่มเทความรักให้แก่ลูกน้อย

สายลมสดชื่นพัดมา ผมเพลิดเพลินกับการเดินเล่นจากย่านที่อยู่อาศัยแถบอำเภอจูโอ เมืองซัปโปโร ไปตามเส้นทางเดินเล่นที่ทอดสู่ในภูเขา ได้ยินเสียงนกหัวขวานดำดังก้องว่า “จี๊~บ”
พอเดินลึกเข้าไปในป่าเพราะเสียงร้องของนกหัวขวานดำช่างไพเราะเสนาะหู นกหัวขวานดำก็ปรากฏตัวให้เห็นเบื้องหน้าพร้อมเสียงร้อง “จิ๊บ จิ๊บ” ระหว่างที่ผมสังเกตการณ์ไปเรื่อยๆ มันโผบินกลางหมู่ไม้ไปเกาะต้นสนใหญ่ เมื่อตัวหนึ่งบินกลับมา นกอีกตัวก็บินออกจากโพรงไม้ที่ใช้เป็นรัง สลับกันกกไข่ ผมยกกล้องถ่ายรูปที่สะพายไหล่ถ่ายรูปไว้ 1 ใบแล้วเดินจากมาเพื่อไม่ให้พวกมันตกใจ
ขณะเดินในป่าลึกแถบคุชิโระและเนมุโระในฮอกไกโดตะวันออก บางครั้งก็ได้ยินเสียงนกหัวขวานดำ ซึ่งจะได้ยินถี่ในช่วงเดือนพฤษภาคมกับมิถุนายนที่เป็นฤดูเลี้ยงลูก ไม่ว่าวันไหนจะฝนตกหรือลมแรง ลูกๆ ก็รออยู่ในรัง ผมจึงนึกภาพความเหนื่อยยากของพ่อแม่ที่ต้องขยันขันแข็งหาอาหารมาให้ลูกๆ กิน
เมื่อถึงช่วงกลางถึงปลายเดือนมิถุนายน ลูกๆ ที่เติบใหญ่ก็จะออกจากรังไป
(ภาพถ่ายและเนื้อหาโดย ชิเงรุ ทาดาโนบุ)