【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ
เราขอแนะนำการเปลี่ยนผันของสี่ฤดูกาลเป็นซีรี่ส์ยาว ผ่านภาพของสัตว์ป่าที่ใช้ชีวิตอย่างกระตือรือร้นตามป่าลึก พื้นที่ชุ่มน้ำ และทะเล ราวกับอยู่ในอ้อมกอดของ “คามุอิ” ซึ่งมีความหมายว่าเทพเจ้าในภาษาไอนุ ตอนที่ 1 นำเสนอกวางฮอกไกโดบนคาบสมุทรโนซึเกะ
(ชิเงรุ ทาดาโนบุ แผนกข่าวคุชิโระ เป็นผู้รับผิดชอบการเขียนบทความและจัดหาภาพถ่าย)
Special feature
【ตอน】เหล่าภูตพรายบนผืนปฐพีของคามุอิ (37) ปลาวาฬเพชรฆาต ขนาดตัวยาว 5 เมตร ฝูงที่ทรงพลัง

“ซู่” ฝูงปลาวาฬว่ายเรียงรายบริเวณผิวทะเลห่างจากเรือท่องเที่ยวประมาณ 10 เมตร เสียงหายใจของปลาวาฬเพชรฆาตที่มีขนาดตัวยาว 5 เมตรกว่าช่างน่าตื่นตะลึง
ทะเลแถบตำบลราอุสุที่มีปลาวาฬเพชรฆาตปรากฏตัวอยู่ใกล้กับขอบเขตทางใต้ของธารน้ำแข็ง ในฤดูหนาวนั้น น้ำแข็งในทะเลที่มีแพลงก์ตอนพืชติดมาด้วยจะเคลื่อนตัวมา แล้วละลายเป็นน้ำทะเลในฤดูใบไม้ผลิ แพลงก์ตอนสัตว์ที่กินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหารจะเพิ่มจำนวนขึ้นพรวดพราด กลายเป็นอาหารของพวกปลา นกทะเล และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในมหาสมุทร ช่องแคบเนมุโระเป็นทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก่อให้เกิดพีระมิดนิเวศที่มีรากฐานเป็นแพลงก์ตอน
สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์คือปลาวาฬเพชรฆาตที่อยู่บนสุดของระบบนิเวศ ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมเป็นฤดูที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์มากที่สุด สามารถรับชมฝูงปลาวาฬเพชรฆาตที่มาเป็นครอบครัวซึ่งเรียกว่าพ็อด และบางครั้งก็ได้เห็นกลุ่มใหญ่เรียกว่าซูเปอร์พ็อดที่หลายๆ ฝูงมารวมอยู่ด้วยกัน
เมื่อถึงเดือนสิงหาคม ปลาวาฬเพชรฆาตแถวช่องแคบเนมุโระจะค่อยๆ ลดจำนวนลง และมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นให้สังเกตการณ์ปลาวาฬหัวทุยที่สลับเข้ามา
(ภาพถ่ายและเนื้อหาโดย ชิเงรุ ทาดาโนบุ)